จากบอร์ดThailand Wilderness Study ของTKT เรื่องเล่าและภาพประกอบโดย พี่น้ำค้างป่า
สาระ ที่อยากให้เพื่อนชมไทยได้อ่านกันครับ
ตรงนี้ไม่มีต้นไม้ ถ้ามีต้นยางสักต้นคงจะดี ลูกยางคิด
แสงแดดที่ร้อนจัด ดินที่แข็งกระด้าง บางวันมันนึกท้อแท้ แต่ก็แว่วๆเสียงแม่ที่เคยสอนไว้
...ลูกอาจพบว่า ที่ลูกอยู่แสนลำบาก บางทีอาจร้อนจัด แข็งเป็นหิน เปียกจนหนาว
แต่เมื่อลูกตั้งใจแล้วว่าจะอยู่ตรงไหน ก็ต้องทำให้ดีที่สุด...
มันไม่สามารถร้องขอให้ดินอ่อนนุ่มกว่านี้ได้ แต่มันพยายามทำให้รากของตัวเอง
ค่อยๆงอกและแทรกเข้าไปในผืนดินทีละน้อย ทีละน้อย...
ด้วยหัวใจนักสู้ของลูกยางน้อย
แม้จะเป็นปลายเดือนเมษาฯแต่ฝนก็ตกลงมาตลอดทั้งวัน มาขาดเม็ดเอาเมื่อตอนหัวค่ำ
ดวงไฟในสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
จึงคร่าคร่ำไปด้วยแมลงเม่าที่บินมาตอมแสง สร้างความรำคาญอยู่บ้างแต่วงสนทนาก็ยังคงออกรสชาติ
เรื่องราวความเป็นมาของป่าทุ่งใหญ่ถูกบรรยายพร้อมกับเครื่องฉายโปรเจคเตอร์ทีละภาพๆ
ฉายให้เห็นความยากลำบากในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่นี่
เส้นทางที่เข้าไปลาดตระเวนในแต่ละพื้นที่นั้นแสนยากลำบาก
บางช่วงต้องช่วยกันลากช่วยกันเข็นรถยนต์ข้ามหล่มโคลน บางช่วงต้องล่องแพข้ามลำน้ำที่ไหลเชี่ยว
สร้างความตื่นเต้นให้กับคณะผู้มาเยือนไม่น้อย
หลังจากจบการบรรยาย คุณสมปอง ทองสีเข้ม
หัวหน้าเขตฯทุ่งใหญ่ฯด้านตะวันนออกจึงกล่าวต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่เดินทางมาในครั้
งนี้ และชี้แจงรายละเอียดต่างๆ เมื่อจบพิธีการไปเรียบร้อย
ความเป็นกันเองอย่างคนคุ้นเคยทำให้บรรยายการสนุกสนานตามประสาน้ำมิตร
***ในรูปคือซากหัวกระทิงที่วิ่งเข้ามาชนรถของเจ้าหน้าที่ป่าไม้จนเสียชีวิตเมื่อหลาย
ดึกมากแล้วฝนตกลงมาอีก หลายคนขอตัวไปนอนเพื่อเตรียมเอาแรงไว้รับมือกับการเดินทางในวันพรุ่งนี้
เส้นทางที่จะเอายาไปแจกให้กับเครือข่ายอาสาสมัครสุขภาพลุ่มน้ำแม่จันนั้น
ไม่ต่างกับภาพที่เจ้าหน้าที่นำมาบรรยายเมื่อตอนหัวค่ำ
อากาศเย็นสบายทำให้หลับไปได้อย่างรวดเร็ว เส้นทางอันขึ้นชื่อของแม่สอด-อุ้มผาง
ด้วยจำนวนโค้งที่มีมากถึง
1,219 โค้ง
ทำให้แม้จะหลับไปแล้วยังฝันว่าต้องเกร็งตัวไม่ให้เหวี่ยงไปตามแรงของรถตอนเข้าโค้งตลอดทั้งคืน
.
...................
.
โครงการเครือข่ายอาสาสมัครสุขภาพชุมชนลุ่มน้ำแม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก
เป็นโครงการช่วยเหลือชุมชนชาวกระเหรี่ยงที่ยังดำรงชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง
และมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ
ซึ่งชุมชมในตำบลแม่จันส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้วยสภาพพื้นที่ที่ห่างไกลทุรกันดารในอดีตเวลามีคนเจ็บป่วย
การรักษาพยาบาลของคนในชุมชนจะใช้ภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านที่ถ่ายทอดกันมา ทำการรักษาที่เน้นด้วยสมุนไพร
ช่วยเหลือกันตามความสามารถ และความถนัดของแต่ละคนด้วยความมุ่งมั่น และตั้งใจในการช่วยเหลือ
ดูแลรักษาผู้ป่วยในชุมชน
ต่อมาเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้เข้ามาจัดตั้งฐานที่มั่น
ในเขตตำบลแม่จันให้เป็นศูนย์กลางเขตงานระดับภาค ขยายงานปฏิวัติไปทั่วจังหวัดตาก และจังหวัดใกล้เคียง
ในสถานการณ์การสู้รบทำให้กลุ่มหมอพื้นบ้าน ได้เรียนรู้การรักษาแผนใหม่ และการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ
และพัฒนาตนเองเป็นหมอ และพยาบาลปฏิวัติรับใช้มวลชน ปฏิบัติงานในเขตสู้รบ
ภายหลังแม้การต่อสู้ทางการเมืองจบสิ้นแล้ว แต่คนเหล่านี้ก็ยังรักษาผู้เจ็บป่วยมาถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันหน่วยงานรัฐได้เข้ามาช่วยเหลือการอนามัยชุมชน โดนจัดตั้งศูนย์อนามัยชุมชนที่บ้านมอทะ
บ้านแม่จันทะใหม่ และมีศูนย์ตรวจรักษาผู้ป่วยจากเชื้อมาลาเรียที่บ้านมอทะ หม่องกั้วะ กรูโบ
และแม่จันทะใหม่ มีอสม.ซึ่งเป็นคนในชุมชนที่ผ่านการฝึกอบรมการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ทำหน้าที่รับผิดชอบ
โดยทำงานร่วมกับหมอ พยาบาลปฏิวัติ
กลุ่มคนเหล่านี้ได้ร่วมตัวกันเป็นเครือข่ายอาสาสมัครสุขภาพชุมชน เพื่อมีเวทีที่จะได้เข้ามาพบเจอกัน
แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ใหม่ๆ และเป็นช่องทางในการแสวงหาความช่วยเหลือ จากกลุ่มองค์กรภายนอก
ทั้งเวชภัณฑ์ และองค์ความรู้ เพื่อสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายฯ นั่นหมายถึงสุขภาพที่ดีของคนในชุมชน
และความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนของวิถีวัฒนธรรมชาวกระเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่าได้อย่างเกื้อกูลและสมดุลต่อไป
มูลนิธิสืบฯจึงเข้ามาเป็นกำลังสำคัญของเครือข่ายฯในการสนับสนุนเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์
การเดินทางมาในครั้งนี้ของเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯนอกจากจะมาเยี่ยมเยือนแล้ว ยังนำยามาเติมให้อีกด้วย
***ในรูปคือสหายสดใส อดีตหมอปฏิวัติกำลังทำการฝังเข็มให้กับชาวบ้าน ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเจ็บขนาดไหน
เห็นหมอบอกว่า ถ้าฝังแล้วรู้สึกเจ็บหรือเสียว แสดงว่าถูกกับโรค :***
เช้าวันใหม่ฝนยังตั้งเค้าอยู่เช่นเดิม และพร้อมที่จะตกลงมาได้ทุกเมื่อ
แม้ช่วงนี้จะเป็นปลายฤดูแล้งแต่ฝนที่ตกติดต่อกันมาหลายวันทำให้หลายคนในคณะเดินทางไม่ค่อยมั่นใจ
ด้วยความที่ชุมชนกระเหรี่ยงในตำบลแม่จัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในป่าลึก
ถนนที่จะเดินทางไปถึงจึงค่อนข้างทุระกันดารใช้ได้เฉพาะหน้าแล้ง
ส่วนในช่วงหน้าฝนจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง
แต่มาถึงนี่แล้วจะกลับคงไม่ได้ เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว รถปิกอัพแบบขับเคลื่อน 4
ล้อทั้งสามคันก็แล่นออกจากสำนักงานเขตฯทุ่งใหญ่ฯตะวันออก พาคนหนุ่มสาวกว่า 20
ชีวิตมุ่งสู่แผ่นดินลุ่มน้ำแม่จัน
กุยเลอตอ หมู่บ้านของชาวกระเหรี่ยงในตำบลแม่จันที่มีพื้นที่อยู่ในฝั่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
เป็นหน้าด้านแรกที่ตั้งยันกับกระแสแห่งการพัฒนาที่กำลังถลาโถมเข้ามา
จนแนวกำแพงแห่งนี้ถูกสั่นคอนไปตามความเปลี่ยนแปลง
ริมหมู่บ้าน สายน้ำแม่จันเส้นเลือดใหญ่ของตำบลแม่จันที่หล่อเลี้ยงผู้คนบนสองฝั่งน้ำ
ยังคงเอื้อยไหลอย่างสงบ แต่บนฟ้าเมฆทะมึนดำก่อตัว
หลังจากการมาถึงของคนเมืองไม่นาน ฝนก็โปรยเม็ดลงมาแผ่วเบา คณะกรรมการหมู่บ้าน หมอ
และชาวบ้านบางส่วนออกมาต้อนรับอย่างอบอุ่น เวชภัณฑ์ที่หอบหิ้วมาจากในเมืองบางส่วนถูกจ่ายแจกไป
พร้อมกับความห่วงใยไถ่ถามถึงสารทุกข์สุกดิบ
จากบ้านกุยเลอตอเส้นทางต่อไปจะเริ่มยากลำบาก อุปสรรคกำลังท้าทายอยู่เบื้องหน้า
ตลอดเส้นทางต้องลัดเลาะเข้าไปในป่า บางช่วงต้องผ่านป่าไผ่ที่หนาทึบ
คนที่นั่งมาหลังรถต้องค่อยระวังตัวอยู่ตลอดเวลา ถ้าพลาดหรือเผลอเพียงครั้งอาจโดนกิ่งไม้ตีเข้าที่หน้า
หรือไม่ก็กิ่งไผ่ที่ตัดเบิกทางไว้กลายเป็นหลาวแหลมแทงจนได้เลือด
ซ้ำยังฝนที่ตกลงมาติดต่อกันทำให้เส้นทางไปในป่าชื้นแฉะ รอยล้อรถเก่าแทบไว้ว่างใจไม่ได้
ถ้าพลาดก็อาจจมอยู่ในหล่มโคลน หรือไมก็พลิกค่ำลงได้ง่ายๆ แต่ด้วยสมถะภาพของรถ
และความชำนาญของคนขับทำให้รอดพ้นมาได้
จากบ้านกุยเลอตอ ถึงบ้านกุยต๊ะก็เลยมื้อเที่ยงมานานแล้วแต่ยังไม่มีใครได้กินข้าวสักคน
จึงต้องอาศัยโรงเรียนในหมู่บ้านเป็นที่กินมื้อกลางวัน
ฝนก็ทำหน้าที่ได้อย่างซื่อตรงตกบ้างไม่ตกบ้างเหมือนจะบอกให้รู้ว่าจะอยู่เคียงข้างไปตลอดเส้นทาง
จากกุยต๊ะต้องผ่านหมู่บ้านอีก 3-4 แห่งล้วนมีชื่อเป็นภาษากระเหรี่ยงที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับคนเมือง
จนถึงบ้านหม่องกั๊วซึ่งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
เป็นจุดหมายปลายทางของวันนี้ก็เย็นย่ำแล้ว
.
***รถชาวบ้านที่สวนทางออกมาแต่ไม่สามารถขึ้นเนินที่เต็มไปด้วยดินเหลวมาได้
คณะเดินทางจึงต้องลงไปช่วยลากขึ้นมา : ***
จากหมองกั๊วเพียงข้ามลำน้ำก็จะเข้าสู่บ้านแกบอทะ ชุมชนที่ยังยึดถือในวิถีฤๅษีอย่างมั่นคง
ฤๅษี เป็นวิถีชีวิตของชาวกระเหรี่ยงที่ยึดถือแนวทางพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด
รักษาแผ่นดินอันบริสุทธิ์ไว้ เพื่อรอพระศรีอารีย์พระศาสดาองค์ใหม่ที่จะลงมาโปรดสัตว์โลก
เมื่อถึงยุคที่พระพุทธศาสนาได้เสื่อมสลายไปแล้ว
ฤๅษีของคนกระเหรี่ยงจึงเป็นกลุ่มคนที่เคร่งครัดในเรื่องศีลธรรม ไม่กินเหล้า
รักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ผูกพันกับธรรมชาติอย่างมั่นคง พึ่งพากสิกรรมที่รบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด
ผู้ชายจะไว้มวยผมทุกคน และไม่กินเนื้อสัตว์ ซึ่งถือเป็นต้นแบบแห่งการอนุรักษ์เลยก็ว่าได้
ต่างกับฤๅษีที่คนทั่วไปเข้าใจ ว่ามักจะเป็นนักบวชที่คงแก่เรียน มีวิชาอาคม
อาศัยอย่างสันโดษอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร เพื่อแสวงหาการหลุดพ้นส่วนตัว
ความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว
ทำให้หมู่บ้านกระเหรี่ยงที่มีวิถีฤๅษีลดน้อยลงไปเรื่อยๆ
ในอดีตชาวกระเหรี่ยงตำบลแม่จันจะอยู่กันแบบพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก พวกเขาจึงเคารพ สายน้ำ ผืนดิน
ต้นข้าว
ต้นไม้ เชื่อว่ามีเทวดาสิ่งสถิตอยู่
และจะช่วยนำพามาซึ่งความอุดมสมบูรณ์แก่หมู่บ้านหากประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม
ไม่ไถ่ไม่พรวนผืนดิน เพราะกลัวเทพยาดาจะโกรธ
ปลูกข้าวร่วมพืชพันธุอื่นเพื่อไม่ให้ขวัญข้าวเหงา จะได้มีเพื่อน
ทำให้ผลผลิตงอกงามและชั่วกันขับไล่ความชั่วอย่างศัตรูพืชออกไป ไม่ให้มารบกวนผลผลิต
ทำไร่ข้าวหมุนเวียนเพื่อพักฟื้นแผ่นดินเตรียมไว้กับฤดูกาลใหม่ ฯลฯ
นี้คือหลายๆความเชื่อที่ดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน
ในสมัยก่อนที่นี้ห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครองของรัฐ จึงไม่มีผู้นำชุมชนอย่างเป็นทางการ
แต่มีตำแหน่งเจ้าวัด ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่ผู้คนให้ความนับถือ และเชื่อฟัง
ในการตัดสินเรื่องต่างๆของชุมชนเจ้าวัดจะเป็นผู้ชี้ขาด
ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านอาจจะมีเจ้าวัดคนเดียวหรือหลายคนก็ได้
ผู้ที่จะได้รับตำแหน่งเจ้าวัด
จะได้รับการคัดเลือกจากร่างทรงซึ่งเป็นเจ้าวัดคนก่อนจนเหตุการณ์สู้รบของพี่น้องกระเหรี่ยงในประเทศเพื่อน
บ้านทวีความรุนแรงขึ้น
พี่น้องกระเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยที่รักความสงบจึงต้องดึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเข้ามา
เพื่อเป็นข้ออ้างในการไม่เข้าร่วมสงครามกู้ชาติ
พรรคคอมมิวนิสต์จึงเข้ามาจัดตั้งฐานที่มั่นในตำบลแม่จันได้สำเร็จ และช่วยเหลือในด้านต่างๆ
จนสงครามปฏิวัติจบลง คนในตำบลแม่จันจึงได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐและองค์กรต่างๆบ้าง
เส้นทางจากบ้านหมองกั๊วเข้าไปถึงบ้านแม่จันทะเป็นเส้นทางที่หฤโหดที่สุด
รุ่งเช้าจึงต้องทิ้งรถไว้คันหนึ่ง
และให้อีกสองคันพันโซ่ไว้ที่ล้อหลังเพื่อที่จะลุยเข้าน้ำลุยโคลนขึ้นเขาไปได้
ตลอดเส้นทางในป่ากล้วยไม้หลากสีพลัดกันออกดอกงาม พบเห็นได้ตั้งแต่คบไม้สูงใหญ่จนถึงพื้นดินในป่าไผ่
ฝนแวะมาทักทายพอประปราย จนมาถึงบ้านกรูโบชุมชนเล็กๆที่อาศัยแอบอิงอยู่ริมลำน้ำแม่จัน
ที่นี้มีโรงเรียนหลังเล็กๆหลังหนึ่ง มีครูกศน.คนหนึ่งที่อุทิศตัวเองเพื่อชุมชนแห่ง
โรงเรียนที่จัดระเบียบเรียบร้อย ทั้งห้องเรียน ห้องน้ำ โรงอาหารสะอาดกว่าโรงเรียนไหนๆที่เคยพบมา
ห้องสมุดมีหนังสือมากมายวางไว้บนหิ้งหนังสืออย่างเป็นระเบียบ มีเด็กๆและชาวบ้านมาใช้อยู่สม่ำเสมอ
ล้วนเป็นแรงกายแรงใจของคุณครูสาวท่านนี้ คุณครูเจี๊ยบของเด็กๆบ้านกรูโบ
ที่นี้นักเรียนทุกคนมีหน้าที่ที่ซึ่งทำให้พวกเขามีความรู้สึก ว่าโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
ซึ่งแตกต่างจากเด็กในเมืองที่มีโอกาสอย่างลิบลิว ไม่ว่าจะเป็นการรับผิดชอบห้องเรียน รับผิดชอบห้องน้ำ
เด็กที่เล็กลงมาหน่อยจะต้องรับผิดชอบต้นไม้เล็กๆคนละต้น เช่น ต้นมะละกอ ต้นกล้วยฯลฯ
ทุกๆเช้าทุกคนจะต้องออกมรายงานหน้าเสาธง ว่างานที่รับผิดชอบทำไปได้แค่ไหน เรียบร้อยมั้ย
หากไม่เรียบร้อยจะถูกทำโทษ โดยเด็กที่เป็นหัวหน้าจะใช้ไม้เรียวตีคนละหนึ่งที หนักเบาตามอายุเด็ก
ก่อนเข้าห้องเรียนเด็กๆยังต้องมีหน้าที่อีกอย่างคือพัฒนาโรงเรียนตามแต่จะมีงานให้ทำ
บางทีจะพบคุณครูและเด็กตัวเล็กๆช่วยกันเก็บก้อนหินโยนให้พ้นทางเดินคนละไม้คนละมือบ้าง กวาดใบไม้บ้าง
ซึ่งถือว่าเป็นการสอนให้เด็กรู้ว่าการทำงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ คือการทำความดี ไม่ใช่เวลาที่เด็กทำผิด
จะลงโทษเด็กให้ไปเก็บขยะ กวาดห้อง ฯลฯ ซึ่งจะสร้างโลกทรรศน์
สร้างวิธีคิดว่างานเหล่านั้นคืองานของคนทำผิด น่ารังเกียจจนเป็นนิสัย
ก่อนพักกลางวันทุกครั้ง จะมีเด็กที่โตหน่อยจะเลิกเรียนก่อนเพื่อนเพื่อไปหากับข้าว
จำพวกผักต่างๆตามจะหามาได้ มาช่วยกันปรุ่งอาหารเลี้ยงกลางวันเด็กคนอื่นๆ
ที่นี้เด็กๆจะต้องใส่ชุดนักเรียนเฉพาะในวันศุกร์ ใส่เสื้อสีเหลืองในวันจันทร์
ใส่ชุดปะจำเผ่าในวันอังคาร
และชุดอื่นๆตามมีตามเกิดในวันที่เหลือ
ทุกๆหนึ่งเดือน ครูเจี๊ยบจะต้องเดินทางออกไปติดต่อราชการที่อำเภออุ้มผาง ซึ่งระยะทางราวๆ 100 กิโลฯ
ระหว่างที่ต้องเดินเท้าไป-กลับ เวลาที่รู้สึกเหนื่อยมากๆหรือท้อใจ
เธอมักจะไปนั่งร้องไห้และบ่นให้กับตอไม้ตอเดิมที่อยู่ระหว่างทางเสมอ
ไกลและทุรกันดารขนาดนี้แต่เธอก็อยู่ได้ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่
บนฝาผนังในโรงครัวมีข้อความเล็กๆเขียนใสกรอบไว้ว่า
ลูกยางเดินทาง
ตรงนี้ไม่มีต้นไม้ ถ้ามีต้นยางสักต้นคงจะดี ลูกยางคิด
แสงแดดที่ร้อนจัด ดินที่แข็งกระด้าง บางวันมันนึกท้อแท้ แต่ก็แว่วๆเสียงแม่ที่เคยสอนไว้
...ลูกอาจพบว่า ที่ลูกอยู่แสนลำบาก บางทีอาจร้อนจัด แข็งเป็นหิน เปียกจนหนาว
แต่เมื่อลูกตั้งใจแล้วว่าจะอยู่ตรงไหน ก็ต้องทำให้ดีที่สุด...
มันไม่สามารถร้องขอให้ดินอ่อนนุ่มกว่านี้ได้ แต่มันพยายามทำให้รากของตัวเอง
ค่อยๆงอกและแทรกเข้าไปในผืนดินทีละน้อย ทีละน้อย...
ด้วยหัวใจนักสู้ของลูกยางน้อย
เจี๊ยบ
\\\" ลูกยางเดินทางของเด็กๆบ้านกรูโบ ขอให้งดงาม งอกงาม เป็นร่มไม้ใหญ่
บนผืนแผ่นดินที่เธอเลือก
ด้วยจิตคารวะ\\\"
***มุมเล็กๆบริเวณห้องพักครูของครูเจี๊ยบ ***
***ชาวบ้านที่พบระหว่างทาง เขากับครอบครัวกำลังจูงรถจักรยานข้ามเขาข้ามห้วยอยู่อย่างอดทน***
การเดินทางอันแสนลำบากมาหยุดอยู่ที่บ้านแม่จันทะในตอนที่ฝนกำลังกระหน่ำลงมา
ชาวบ้านที่รู้ข่าวการมาถึงจึงเดินทางมาทักทายไม่ขาดสาย หลังมื้อค่ำผ่านไปก็เป็นรายการการพูดคุย
ผู้นำชุมชน เจ้าวัด คณะกรรมการหมู่บ้าน หมอ เครือข่ายฯมาชุมชุนกันเต็มห้องโถงของบ้าน
คนมากมายจนลอดไม้ที่รับน้ำหนักของพื้นไม้ทนไม่ได้หักลงมา
เสียงร้องอย่างตกใจเปลี่ยนมาเป็นเสียงหัวเราะอย่างครื้นเคร่งเมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย
บทเพลงปฏิวัติถูกขับขานอีกครั้งเพื่อต้อนรับผู้มาเยือนจากในเมือง
เราต่างมาจากทั่วทุกสาระทิศ มีชีวิตร่วมกันอยู่ในป่าเขา
จากบ้านเกิดเมืองนอนถึงไพรลำเนา ด้วยพวกเรามีอุดมการณ์อันเดียว
***บรรยากาศยามเช้าบริเวณหมู่บ้าน***
บ้านทิบาเกอยู่ไม่ไกลจากบ้านแม่จันทะมากนัก หลังข้าวเช้าเพียงเดินข้ามลำน้ำแม่จันก็ถึงแล้ว
ที่นี้เป็นหมู่บ้านที่เป็นฤๅษีอีกแห่งในตำบลแม่จัน บรรยากาศเคร่งขรึม สงบเงียบ
แทบจะไม่พบสิ่งที่เรียกว่าความเจริญเลย ผู้คนที่นี้ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น
ไม่ปล่อยให้สิ่งที่เรียกว่าความศิวิไลซ์มาครอบงำหรือมอมเมาคนในหมู่บ้านได้
พวกเขาเลือกที่จะถือวิถีสันโดษอยู่อย่างสมถะท่ามกลางธรรมชาติ
พวกเขาเชื่อว่าหากเอาความชั่วร้าย(อย่างเช่นเหล้า)เข้ามาให้หมู่บ้าน จะเกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้าน
หรือใครทำผิดศีลธรรมอาจเกิดอาเพศจนถึงขนาดต้องย้ายหมู่บ้านกันเลยทีเดียว
เพราะฉนั้นเวลาที่เข้าไปในหมู่บ้านของฤๅษีจะต้องระมัดระวังไม่ให้เสื่อมเสียจนอาจเป็นที่ไม่พอใจของคนในหม
ู่บ้านได้
เมื่อข่าวคราวการมาถึงของคนเมือง หมอแขนงต่างๆในเครือข่ายฯถูกระดมมาหมด ไม่ว่าจะเป็นหมอปฏิวัติ
หมอสมุนไพร หมอฝังเข็ม หมอจับชีพจร หมอแหมะ หมอจับเส้น แม้แต่หมอดูก็มีคนมาใช้บริการอย่างคับคั่ง
หนทางที่ห่างไกลชาวบ้านจึงเลือกที่จะช่วยตัวเอง พึ่งพาตนเอง
เจ็บไข้ได้ป่วยก็ได้หมอเหล่านี้ที่ช่วยรักษา
โดยไม่คิดมูลค่าใดๆเลย นอกจากน้ำจิตน้ำใจที่มีให้กัน
***กรรมวิธีการทำใบยาสูบของบ้านแม่จันทะ***
***มือซอยที่บรรจงอย่างชำนาญ***
***สาวชาวกระเหรี่ยงในชุดประจำเผ่า คำว่ากระเหรี่ยงเป็นคำที่มาจากภาษามอญใช้เรียกชาวกระเหรี่ยง
แต่คนกระเหรี่ยงจะเรียกตัวเองว่า ปากากะญอ หรือปากะญอ หรือโพล่ว ซึ่งปากากะญอกับโพล่วจะเป็นคนละเผ่ากัน
ความสับสนเรื่องชนเผ่ายังมีอีกมาก ซึ่งต้องใช้เวลาในการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งจึงจะแยกแยะออก***
ฝนที่ตกลงมาทำให้เส้นทางไปบ้านช่องแป๊ะลำบากเกินกว่ากำลังรถและกำลังคนจะไปถึงได้
คณะจากกรุงเทพฯจึงต้องเดินทางกลับออกมาเมื่อตอนสายๆ
เมื่อมาถึงบ้านกรูโบก็พบว่าลำน้ำแม่จันที่เคยใสราวกับกระจกในตอนขามา ได้แปรเปลี่ยนเป็นสีแดงขุ่นข้น
ไหลเชี่ยวกรากและรุนแรงเกินกว่ารถยนต์จะฝ่าข้ามไปได้
กังหันน้ำที่ใช้ตำข้าวเมื่อตอนขามาตอนนี้ไม่เห็นแล้ว อาจเป็นได้ว่าคงถูกกระแสน้ำพัดหายไปแล้ว
เวรยามถูกพลัดเปลี่ยนกันไปนั่งมองสายน้ำ เมื่อลดลงเมื่อไหร่ก็จะต้องเอารถข้ามไปทันที
ข่าวจากวิทยุสื่อสารแจ้งว่า สะพานไม้ไผ่ที่เดินข้ามลำน้ำแม่จันเมื่อเช้าถูกกระแสน้ำพัดพาไปแล้ว
และพายุที่ผ่านพ้นไปแล้วกำลังก่อตัวขึ้นในไม่กี่วันนี้
หากหาโอกาสข้ามไม่ได้อาจต้องติดอยู่ที่นี้เป็นอาทิตย์
คนเมืองประชุมกันอย่างเคร่งเครียด วิธีการต่างๆถูกยกเอามาวิเคราะห์หาจุดอ่อนจุดแข็งตั้งแต่
เดินข้ามไปแล้วทิ้งรถไว้ที่นี้
ทำสะพานให้รถข้ามไป
หาท่อพีวีซีมาต่อกับท่อไอเสียและหม้อกรองให้สูงพ้นน้ำ เพื่อให้รถไม่ดับระหว่างลุยข้าม
ใช้วิธีที่ชาวเขมรทำคือตัดไม้มาสอดใต้ท้องรถแล้วช่วยกันยกข้ามไป เพราะน้ำจะช่วงพยุงให้รถเบาขึ้น
ถอดเครื่องยนต์แล้วช่วยกันแบกแบก และเข็นรถข้ามไปเอาไปประกอบฝั่งโน้น
ฯลฯ
สรุปคือรอให้ระดับน้ำรถดีกว่า
ครูเจี๊ยบยินดีที่คนเมืองอาจจะต้องเป็นแขกของที่นี้ไปอีกหลายวัน
จึงจัดให้เด็กๆไปหุงข้าวมาเลี้ยงมื้อกลางวันอย่างเต็มที่ แกงหัวปลี กับไข่เจียวยอดชะอม
หอมฟุ้งยั่วน้ำลาย ยามมาแจ้งข่าวว่าน้ำลดระดับลงแต่ยังข้ามไม่ได้ สร้างความหวังขึ้นมาบ้าง
มื้อเย็นเป็นแกงหัวปลีที่ติดอกติดใจมาจากเมื่อกลางวัน น้ำลดลงไปอีกแต่ยังข้ามไม่ได้
คืนนี้เลยตัดสิ้นใจนอนค้างกันที่โรงเรียน
และเมื่อน้ำลดลงจนพอไปได้เมื่อไหร่จะเอารถข้ามไปไว้ฝั่งโน้นก่อน แล้วตอนเช้าค่อยหาวิธีเดินข้ามไป
คืนนั้นหลายคนภาวะนาขออย่าให้ฝนตกลงมาอีกเลย แต่ดูเหมือนฟ้าฝนจะไม่เป็นใจ
ยังคงทำหน้าที่สร้างความชุมชื่นให้แก่ผืนดินเกือบตลอดทั้งคืน
ยามเฝ้าน้ำกลับมาบอกว่าน้ำสูงขึ้นกว่าเก่าหลายเท่า ทุกคนเริ่มหมดหวัง
เด็กๆที่เดินไปหาผักกลับมามือเปล่า ยอดชะอมไม่มีเหลือให้เก็บแล้ว
มื้อเช้าจึงยังคงเป็นแกงหัวปลีที่หลายคนเริ่มเอียน
ถ้าติดอยู่ที่นี้อีกสักสองสามวันคงได้กินหยวกกล้วยเป็นแน่แท้ แต่ข่าวดีน้ำในลำน้ำแม่จันลดระดับลงแล้ว
แผนการถูกซักซ้อม คนส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้ไปคล้องแขนกันไว้เพื่อกั้นความแรงของน้ำให้ลดลง
เพื่อกันไม่ให้รถพลิกคว่ำ คนที่ว่ายน้ำไม่เป็นถูกจับตัวให้ข้ามไปก่อนโดยมีคนว่ายน้ำแข็งพาข้ามไป
เผื่อหากว่ารถเกิดเป็นอะไรพวกเขาจะยังปลอดภัย เชือกและคนในหมู่บ้านถูกระดมมาเท่าที่มี เด็กๆ ผู้หญิง
และคุณครูค่อยยืนให้กำลังใจบนฝั่ง สิ่งเดียวที่วิตกอยู่ตอนนี้คือน้ำจะลดระดับลงอีกหรือไม่
แล้วน้ำก็ลดระดับลง...
***คนทั้งหมู่บ้านออกมายืนดูด้วยความสนใจ ผู้หญิงและเด็กยืนให้กำลังใจบนฝั่ง
ผู้ชายที่แข็งแรงลงมาช่วยอย่างเต็มที่***
***เวลานี้คงไม่มีอะไรจะหยุดพวกเราได้แล้ว อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด หากรถพลิกค่ำ
หรือจมอยู่ในน้ำก้ปล่อยไว้อย่างนั้น แล้วเดินกลับ รอให้น้ำลดแล้วค่อยกลับมากู้กัน ***
***ทีมกั้นน้ำพร้อม***
***ทีมเชือกก็พร้อม ***
***เมื่อสัญญาณปล่อยตัวทุกคนก็ทำตามหน้าที่อย่างเข้มแข็ง***
***ที่ลุ้นไว้ในที่สุดก็ผ่านพ้น***
***ลุ้นกับอีกคัน***
***อุปสรรคยังไม่ผ่านพ้น***
***น้ำเข้าหัวเทียนเต็มๆ ต้องถอดออกมาเช็ด ***
***พวกเราก็กลับออกมาได้ในที่สุด ***
***ลูกแมงมุมที่กำลังพร้อมจะออกไปเผชิญกับโลกภายนอก ***
ผู้คนมากมายคิดว่าตนเองยิ่งใหญ่เป็นศูนย์กลางของทุกสรรพสิ่ง ลืมรากเหง้าและตัวตนของตัวเอง
ลืมนึกถึงความเป็นจริงที่ว่า แท้นั้นธรรมชาติยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด
แต่ยังมีคนอีกกลุ่มที่มิได้หลงใหลในความรุ่งเรืองศิวิไลซ์ที่ฉาบไปด้วยแสงสีเหล่านั้น
กลับมีชีวิตที่แปลกแยก ถือเอาความสันโดษเป็นที่ตั้ง ใช้ชีวิตอย่างสมถะผูกพันและพึ่งพาธรรมชาติ
พวกเขาเลือกที่จะถูกลืมจากสังคม
แม่จัน สายน้ำที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตและจิตวิญาณของคนบนสองฝากฝั่งน้ำมาอย่างช้านาน
ยังคงไหลสงบนิ่งดั่งไม่รับรู้เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ขอขอบคุณ
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เจ้าหน้าที่ภาคสนามโครงการจอมป่าเขตอุ้มผาง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญานเรศวรด้านตะวันออก
คุณครูเจี๊ยบ
พี่ห้อยเจ้าหน้าที่ป่าไม้
ชาวบ้านตำบลแม่จัน
เครือข่ายอาสาสมัครสุขภาพลุมน้ำแม่จัน
และบุคคลท่านอื่นๆที่มิได้ออกนาม
ที่มา Trekking thai.com
บอร์ด thailand wilderness study
ภาพ/เรื่องเล่า คุณน้ำค้างป่า
กระทู้อ้างอิง
http://board.trekkingthai.com/board/show.php?Category=trekking&forum=18&No=123588